









1. ประเด็นหรือเรื่องในการมีส่วนร่วม
ด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สั่งการให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ (มจพ.) นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. แชมป์โลก 10 สมัย เข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ กรณีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง โครงการอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริเวณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. เกิดถล่มลงมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มจพ. จะนำหุ่นยนต์ฯ สำรวจภารกิจในพื้นที่อาคารถล่มร่วมกับเจ้าหน้าที่จากภาครัฐและภาคเอกชน โดยนำหุ่นยนต์สำรวจ จำนวน 3 ตัว เข้าร่วมภารกิจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติซ้ำซ้อน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยกู้ภัย และเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงผู้ประสบภัยในสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัยและหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก ซึ่งถูกออกแบบมาให้สามารถสร้างแผนที่สามมิติของพื้นที่ และเคลื่อนที่ผ่านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน เช่น อาคารที่ถล่มหรือพื้นที่จำกัดการเข้าถึง ข้อมูลที่หุ่นยนต์เก็บรวบรวมได้จะช่วยให้หน่วยกู้ภัยสามารถประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ หุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็ก มีจุดเด่นที่ความคล่องตัวสูง เหมาะสำหรับการเข้าถึงพื้นที่แคบหรือซอกมุมต่างๆ พร้อมติดตั้งเซนเซอร์สำหรับตรวจวัดระดับออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน ในขณะที่ หุ่นยนต์สำรวจเพื่อการกู้ภัย มาพร้อมแขนกลสำหรับหยิบจับหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของ และมีความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับ รวมถึงการขึ้นบันไดได้อย่างมีเสถียรภาพ พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิเพื่อใช้ประเมินสภาวะความร้อน ในพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีความสำคัญต่อการวางแผนและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ร่วมปฏิบัติงาน อีกทั้งยังนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยีการสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) จำนวน 2 ตัว เพื่อสนับสนุนภารกิจการสำรวจในครั้งนี้ โดยดำเนินการนำอากาศยานไร้คนขับ DJI Mavic 3 Enterprise ซึ่งเป็นโดรนที่มีศักยภาพสูง มีกล้องที่ให้ความละเอียดสูงและฟังก์ชันการซูมระยะไกล เพื่อใช้ในการสำรวจขอบเขตของความเสียหายจากแผ่นดินไหว ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย และสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคาร รวมถึงแนวทางการบูรณะและซ่อมแซมต่อไป
2. สรุปข้อมูลของผู้มีส่วนร่วม
ผู้แทนภาคีร่วมดำเนินการ ได้แก่
2.1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2.2 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
2.3 กรุงเทพมหานคร
2.4 ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองแห่งชาติ (USAR Thailand)
2.5 สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ (D.R.A.T)
3. ผลจากการมีส่วนร่วม
การปฏิบัติงานภาคสนาม ของทีมหุ่นยนต์กู้ภัย “iRAP Robot” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ (มจพ.) ได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ชั้นใต้ดินของตึกที่ถล่มร่วมกับทีมกู้ภัย USAR Thailand ในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน จึงได้ส่งหุ่นยนต์ลงไปสำรวจ วิเคราะห์และสร้างแผนที่ 3D ที่ได้จากการใช้หุ่นยนต์สแกนข้อมูลสภาพแวดล้อม เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมถึงสรุปข้อมูลทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้กับทีมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย โดยภารกิจหลักคือให้การสนับสนุนทีมขุดรื้อ-ขุดค้นหา ว่าขณะนี้ได้ดำเนินการขุดไปในระยะเท่าไหร่แล้ว โดยแบ่งแผนที่ 3D ส่งให้ทางทีมหน่วยงานกลาง เว็บไซต์แสดง Maps 3D ของสถานที่เกิดเหตุ อัพเดทล่าสุด ทำโดยบุคลากร-อาจารย์ จาก มจพ. การส่งมอบแผนที่ 3D ฉบับสมบูรณ์ ทีม iRAP Robot (KMUTNB) ได้เสร็จสิ้นการสร้างแผนที่ 3D ของอาคารทั้งหมด ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งถือเป็นข้อมูลแผนที่ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ โดยได้ส่งมอบแผนที่ให้กับทุกหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการกู้ภัย เพื่อใช้ในการประเมินและวางแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้แผนที่ 3D ที่ได้รับการสร้างขึ้น ยังสามารถนำไปใช้ในการประเมินปริมาตรของซากอาคาร โดยการคำนวณน้ำหนักจากค่า density ของคอนกรีต ซึ่งจะช่วยในการประเมินเวลาและการดำเนินการขนย้ายซากออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งติดตั้งเซ็นเซอร์ LiDAR, กล้องตรวจจับความร้อน, แขนกลหยิบจับ, เซ็นเซอร์วัดออกซิเจน นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนกล้องโดรนรุ่นใหม่ล่าสุด DJI Zenmuse H30T ให้กับสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ (D.R.A.T.) ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและสำรวจทางอากาศเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ในทุกด้าน
4. การนำผลจากการมีส่วนร่วมไปพัฒนาการดำเนินงาน
ได้มีการดำเนินการประชุมร่วมกันของภาคีเครือข่าย ด้วยการนำข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับเหตุภัยพิบัติจากหน่วยกู้ภัยในเหตุการณ์จริงดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยมาพัฒนาหุ่นยนต์และระบบซอฟต์แวร์เสริม เพิ่มศักยภาพและลดภาระงานของมนุษย์ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยพิบัติ รวมถึงพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติและช่วยเหลือสังคมยามวิกฤตในอนาคต
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก
https://www.kmutnb.ac.th/news/university-news/มจพ-รวมกบ-กระทรวง-อว-สงทมหนยนตกภย-iRAP.aspx
https://www.kmutnb.ac.th/news/university-news/ปฏบตการกภยของทม-iRAP-Robot-มจพ-เดนหนาสำร.aspx